ความน่าเชื่อถือของผู้เขียนพระคัมภีร์
ในพระคัมภีร์มีหนังสิอ 4 เล่ม ที่บันทึกชีวิประวัติของพระเยซู ได้แก่
1. พระธรรมมัทธิว ซึ่งผู้เขียนก็คือมัทธิวคนเก็บภาษี ซึ่งเขาเป็นหนึ่งในสาวกของพระเยซู
2. พระธรรมมาระโก ผู้เขียนคือมาระโก ผู้ช่วยของเปโตรซึ่งเป็นศิษย์เอกของพระเยซู
3. พระธรรมลูกา เขียนโดยคุณหมอลูกา
4. พระธรรมยอห์น เขียนโดยยอห์น สาวกที่พระเยซูทรงรักที่สุด
ในคดีอาชญากรรมนั้น สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งในการคลี่คลายคดีก็คือ พยานผู้เห็นเหตุการณ์ ดังนั้นเราจึงต้องมาพิสูจน์ความน่าเชื่อถือของผู้เขียนชีวประวัติของพระเยซูก่อนว่าน่าเชื่อถือแค่ไหน เรารู้ดีว่าผู้เขียนเหล่านี้มีชีวิตอยู่ในสมัยเดียวกับพระเยซู เขาเป็นเหมือนกับพยานผู้เห็นเหตุการณ์ ถ้าคนเหล่านี้เป็นผู้เขียนจริง หนังสือที่เขาเขียนก็จะมีความน่าเชื่อถือ
และจากการศึกษาพบว่าไม่มีข้อมูลหรือหลักฐานใดๆที่จะมาโต้แย้งว่าคนเหล่านี้ไม่ใช่ผู้ที่เขียนพระธรรมเหล่านี้ ถ้าจะถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีคนอื่นเขียนแล้วใช้ชื่อคนเหล่านี้แอบอ้างว่าเป็นผู้เขียน คำตอบก็คือเป็นไปไม่ได้ เพราะว่ามาระโกและลูกาไม่ได้เป็นสาวกของพระเยซู และไม่ได้เป็นคนที่มีชื่อเสียงอะไร คงไม่มีประโยชน์ที่จะใช้ชื่อสองคนนี้ในการแอบอ้าง สำหรับมัทธิวเองแม้ว่าเขาจะเป็นสาวกของพระเยซู แต่เขาก็เป็นคนเก็บภาษี ซึ่งอาชีพนี้เป็นที่รังเกียจของสังคมยิว เพราะคนเก็บภาษีส่วนใหญ่จะฉ้อโกง เก็บภาษีเกินอัตราเพื่อให้ตนเองร่ำรวย การแอบอ้างชื่อมัทธิวที่ไม่มีชื่อเสียงรวมทั้งเคยทำอาชีพที่สังคมรังเกียจจึงไม่น่าจะมีเหตุผลเท่าไร สำหรับคนสุดท้ายคือยอห์น แม้ว่าอาจจะมีการโต้แย้งว่ายอห์นเป็นผู้เขียนจริงหรือไม่ แต่จากหลักฐานต่างๆก็บ่งชี้ว่ายอห์นเป็นผู้เขียนเอง ยกเว้นในช่วงหลังของพระธรรมยอห์นอาจจะเขียนโดยผู้ใกล้ชิดของเขาที่ช่วยเขียนสรุปตอนท้ายให้ แต่ก็ยังถือได้ว่ายอห์นเป็นผู้เขียนพระธรรมเล่มนี้จริงๆ ดังนั้นในประเด็นของผู้เขียนจึงเชื่อได้ว่าคนเหล่านี้เป็นคนเขียนจริงๆไม่มีการแอบอ้างใช้ชื่อแต่อย่างใด
สำหรับหลักฐานอื่นๆที่ยืนยันว่าคนเหล่านี้เป็นคนเขียนพระธรรมเหล่านี้จริงๆก็คงเป็นบันทึกต่างๆของคนในสมัยนั้น เช่น ปาปิอัส ในราว ค.ศ. 125 ได้ยืนยันว่ามาระโกเป็นผู้บันทึกสิ่งที่เปโตรเห็น และเขาบันทึกได้อย่างไม่บิดเบือนเลย รวมทั้งเขายังยืนยันอีกว่ามัทธิวเองก็เป็นผู้เขียนพระธรรมมัทธิวด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีข้อเขียนของอิเรเนียส ในราว ค.ศ. 180 ที่ได้ยืนยันว่าคนทั้ง 4 นี้เป็นผู้เขียนพระกิติคุณทั้ง 4 เล่มด้วยตนเอง
ถ้าหากเราดูหนังสือชีวิประวัติในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าเนื้อหาในหนังสือนั้นจะเป็นเรื่องราวชีวิตของคนๆนั้นตั้งแต่เกิด เติบโต ได้กระทำสิ่งใดๆบ้างและสุดท้ายคือการสิ้นชีวิตของคนๆนั้น แต่เมื่อเรามาดูหนังสือชีวประวัติของพระเยซูซึ่งมาระโกเป็นคนเขียนจะพบว่าไม่มีรายละเอียดใดๆเลยเกี่ยวกับการกำเนิดของพระเยซู นอกจากนี้เนื้อหาส่วนใหญ่จะบันทึกในช่วงเวลาสามปีที่พระเยซูได้ประกาศเรื่องแผ่นดินของพระเจ้าและทำการอัศจรรย์ต่างๆ และเกือบครึ่งหนึ่งของพระธรรมมาระโกยังเขียนเน้นไปในช่วงสัปดาห์สุดท้ายที่พระเยซูมีชีวิตอยู่บนโลกนี้ แล้วการเขียนแบบนี้จะเรียกว่าเป็นการเขียนชีวประวิติได้อย่างไร?
คำตอบสำหรับประเด็นนี้ก็คือรูปแบบการเขียนชีวิประวัติในอดีตกับในปัจจุบันนั้นแตกต่างกัน ในสัมยโบราณนั้นการเขียนเรื่องราวของบุคคลใดบุคลหนึ่งไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญเท่าๆกันในแต่ละช่วงเวลาของชีวิต รวมทั้งไม่จำเป็นต้องเล่าเรื่องราวตามลำดับของเหตุการณ์ต่างๆอย่างถูกต้อง หรือการอ้างคำพูดของคนๆนั้นก็ไม่จำเป็นต้องตรงทุกตัวอักษรตราบใดที่ความหมายไม่เปลี่ยนแปลง จุดประสงค์ของการบันทึกเรื่องราวก็คือเพราะเห็นว่ามีบทเรียนที่น่าเรียนรู้จากบุคคลที่ถูกกล่าวถึง มีส่วนที่น่าเอาแบบอย่าง ช่วยผู้คนได้ และมีความหมายทางประวัติศาสตร์ และสาเหตุที่มาระโกให้ความสำคัญกับเนื้อหาในช่วงสัปดาห์สุดท้ายที่พระเยซูทรงดำเนินชีวิตอยู่บนโลกก็คือ หมายสำคัญและการอัศจรรย์ต่างๆที่พระเยซูทรงกระทำนั้นจะไร้ความหมายถ้าหากไม่มีช่วงสัปดาห์สุดท้ายของชีวิต เพราะนี่คือวัตถุประสงค์ที่พระองค์เสด็จมาบนโลกนี้ก็เพื่อสิ้นพระชนม์ เพื่อไถ่บาปเราและในวันที่สามได้คืนพระชนม์และยังคงมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน ดังนั้นมาระโกซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือพระกิติคุณเป็นเล่มแรกจึงได้เน้นเรื่องราวของพระเยซูในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของชีวิต โดยให้ความสำคัญยิ่งต่อเรื่องราวการตรึงบนไม้กางเขนของพระองค์
เป็นที่เชื่อต่อๆกันมาว่ามัทธิวและลูกาได้เขียนชีวิประวัติของพระเยซูโดยใช้หนังสือของมาระโกเป็นพื้นฐานในการเขียน จึงมีคำถามว่าทำไมมัทธิวซึ่งอ้างว่าเป็นผู้เห็นเหตุการณ์กลับไม่เขียนโดยอาศัยประสบการณ์ของตนเอง ทำไมจึงเขียนขึ้นโดยอาศัยพื้นฐานจากหนังสือของมาระโก ทั้งๆที่มัทธิวซึ่งเป็นสาวกของพระเยซูน่าจะใกล้ชิดกับพระองค์มากกว่ามาระโก คำตอบก็คือมาระโกบันทึกโดยอาศัยการราบรวมเรื่องราวจากเปโตรซึ่งเป็นสาวกวงในที่ใกล้ชิดพระเยซู ซึ่งเปโตรอาจเห็นและได้ยินในสิ่งที่สาวกคนอื่นๆอาจไม่ได้เห็นหรือได้ยิน จึงเป็นไปได้ที่มัทธิวจะอาศัยความคิดของเปโตรในการเขียนซึ่งได้ถ่ายทอดผ่านทางมาระโก ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกเลย เพราะการต้องการความถูกต้องในการเขียนจึงต้องอาศัยข้อเท็จจริงจากเปโตรที่เป็นสาวกวงในเป็นแหล่งอ้างอิง
ดังนั้นชีวประวัติของพระเยซูในพระธรรมมัทธิว มาระโก และลูกา จึงคล้ายคลึงกัน มีโครงสร้างและความสัมพันธ์คล้ายๆกัน แต่พระธรรมยอห์นนั้นมีความแตกต่าง เพราะพระธรรมยอห์นเป็นพระธรรมที่เขียนขึ้นหลังสุด มีเพียงเรื่องสำคัญไม่กี่เรื่องที่ปรากฏในพระธรรมทั้ง 3 เล่มและปรากกฏในยอห์นอีก ทั้งนี้เพราะยอห์นรู้ในสิ่งที่มัทธิว มาระโก และลูกาเขียนเป็นอย่างดีแล้วจึงไม่มีความจำเป็นต้องเขียนอีก สิ่งที่แตกต่างที่มีในพระธรรมยอห์นก็คือการเน้นว่าพระเยซูทรงเป็นพระเจ้าอย่างตรงไปตรงมา นั่นก็คือการประกาศว่าพระเยซูทรงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระบิดา เป็นพระเจ้า เป็นทางนั้น เป็นความจริง และเป็นชีวิต และมีทางพระเยซูทางเดียวเท่านั้นที่จะช่วยมนุษย์ให้รอดพ้นจากบาปได้ แต่พระธรรมยอห์นก็ไม่ได้แตกต่างไปจากเล่มอื่นๆ เพราะพระธรรม 3 เล่มแรกก็ได้บันทึกถึงการเป็นพระเจ้าของพระเยซูไว้เช่นกัน อย่างเรื่องที่พระเยซูทรงเดินบนน้ำใน มัทธิว 4:22-33 และมาระโก 6:45-52 พระองค์ทรงตรัสว่า อย่ากลัวเลย เป็นเราเอง ซึ่งคำว่าเป็นเราเองนั้นมีความหมายเดียวกับในพระธรรมยอห์น 8:58 และเป็นคำเดียวกับคำว่า เราเป็น เมื่อพระเจ้าปรากฏแก่โมเสสในพุ่มไม้ใน อพยบ 3:14 แม้ว่าในพระธรรมทั้ง 3 เล่มก่อนหน้าไม่ได้พูดถึงความเป็นพระเจ้าอย่างตรงไปตรงมา แต่สิ่งที่บันทึกไว้ก็ได้ชี้ชัดว่าพระเยซูทรงเป็นพระเจ้า อย่างเช่นการที่พระเยซูทรงยกบาป เพราะมีเพียงพระเจ้าเท่านั้นที่ยกบาปได้ หรือการที่พระเยซูตรัสว่า ผู้ที่รับเรา เราก็จะรับผู้นั้นต่อพระบิดาในสวรรค์ นี่เป็นเรื่องราวของการพิพากษาในวันสุดท้าย ซึ่งมีพระเยซูผู้เป็นพระเจ้าเท่านั้นที่จะช่วยเราให้รอดพ้นจากการพิพากษา z จากบึงไฟนรกได้ ดังนั้นจึงไม่มีความแตกต่างหรือขัดแย้งใดๆในพระธรรมยอห์นกับอีก 3 เล่ม เพียงแต่พระธรรมยอห์นได้ชี้ชัดและเน้นหนักความเป็นพระเจ้าของพระเยซูอย่างตรงไปตรงมามากกว่าสามเล่มแรก
เรียบเรียงโดย พายุแห่งความเปรมปรีดิ์