แล้วอะไรคือเคล็ดลับ ?
ถ้านักวิทยาศาสตร์ที่ฉลาดปราดเปรื่อง หรือนักธรรมที่อุทิศตัวให้กับศาสนายังไม่สามารถค้นพบความหมายที่แท้จริงของชีวิตได้แล้ว จะมีใครสามารถล่วงรู้ได้อีก แล้วเราจะค้นพบมันได้อย่างไร ?
ทำไมผู้คนมากมายจึงมีชีวิตที่เต็มไปด้วยความผิดหวัง ความว่างเปล่า ความสิ้นหวัง ความน่าเกลียดน่าชัง ความเบื่อหน่าย หรือ ความโกรธ ?
เมื่อคิดถึงปัญหาเหล่านี้ บางคนพบว่าคำตอบซึ่งคนอื่นพึงพอใจนั้นยังไม่จุใจพวกเขา ในขณะที่บางคนไม่สนใจที่จะค้นหาคำตอบ ตราบที่เขายังสนุกอยู่กับชีวิต
บางคนหมดหวังที่จะบรรเทาความหิวกระหายหาคำตอบ และหันไปพึ่งเหล้าหรือยาเสพติด เพื่อที่จะหนีออกจากโลกแห่งความจริงอันแสนเจ็บปวด
แต่ที่น่าเศร้าก็คือ บางคนถึงกับต้องฆ่าตัวตายเพื่อหนีจากความจริงเหล่านั้น
"คนส่วนใหญ่มีชีวิตอย่างหมดหวัง"
เฮนรี่ เดวิด ธอโร
ใครบ้างที่มีคำตอบให้กับคำถามเหล่านี้ ? เหตุใดผู้คนมากมายจึงยังไม่หยุดค้นหา ถ้าหากว่าคำตอบเหล่านี้มีอยู่แล้ว ?
หนังสือเล่มนี้จะเปิดเผยถึงชีวิตของชายคนหนึ่งซึ่งมีชีวิตอยู่เมื่อเกือบ 3,000 ปีที่แล้ว และเขาพยายามแสวงหาคำตอบให้กับคำถามเหล่านั้น
คุณอาจแทบไม่เชื่อว่าปัญหาที่เขาเขียนนั้น เป็นปัญหาเดียวกับปัญหาทั่ว ๆ ไปที่เราทุกคนเผชิญอยู่ในปัจจุบัน เขาตั้งข้อสังเกตได้เหมือนกับว่าเขามีชีวิตอยู่ในปลายศตวรรษที่ 20
การค้นหายังคงดำเนินต่อไป เช่นเดียวกับความพยายามอันสิ้นหวังในการที่จะพบคำตอบ
2. กินลมกินแล้ง
คุณเคยลองพยายามจับลมดูหรือไม่ ? คุณเคยทำให้พายุทอร์นาโด หรือพายุเฮอร์ริเคนสงบลงได้หรือไม่ ? การวิ่งไล่ตามความพึงพอใจในชีวิตก็เป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากคุณไปแสวงหามันผิดที่
ลองฟังความคิดเห็นของบางคนที่ได้เรียนรู้เรื่องดังกล่าวอย่างลำบากดู
|
"13 และข้าพเจ้าตั้งใจเสาะและแสวงหาโดยสติปัญญา สิ่งที่กระทำกันภายใต้ฟ้าสวรรค์ เป็นเรื่องยากลำบากซึ่งพระเจ้าประทานให้มนุษย์ทำกันอยู่นั้น
14 ข้าพเจ้าเคยเห็นการทั้งปวงซึ่งเขากระทำกัน ภายใต้ดวงอาทิตย์ และดูเถิด สารพัดก็อนิจจัง คือกินลมกินแล้ง" (ปัญญาจารย์ 1:13-14)
สำหรับผู้เขียนท่านนี้ ชีวิต "ภายใต้ดวงอาทิตย์" เป็นสิ่งที่อนิจจัง ไร้ประโยชน์ และปราศจากความหมาย แต่ในบทต่อมา ท่านได้บอกเราถึงการมองชีวิตในอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นการมองเหนือดวงอาทิตย์ จากมุมมองของพระเจ้า ถ้าไม่มีพระเจ้าอยู่ในภาพ ทุกสิ่งก็ปราศจากความหมาย
การที่เราทราบว่าผู้เขียนหนังสือคือใคร และเหตุใดท่านจึงเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา จะช่วยให้เราเข้าใจหนังสือปัญญาจารย์ได้มากยิ่งขึ้น แม้ว่าท่านจะไม่ได้ระบุชื่อเอาไว้ แต่จากคำบรรยายของผู้เขียนเกี่ยวกับตัวเองว่าเป็น "เชื้อสายของดาวิด กษัตริย์ในเยรูซาเล็ม" รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความมั่งคั่ง อำนาจ สติปัญญา ความสำเร็จ และการมีมเหสีหลายองค์ ทำให้เราพอสรุปได้ว่า ผู้เขียนคือ กษัตริย์ซาโลมอน (ดูปัญญาจารย์ 1:1,12,16; 2:4-9; 7:26-29; 12:9)
|
ถ้าเรายอมรับว่าซาโลมอนเป็นผู้เขียนหนังสือปัญญาจารย์ เราก็จะเห็นภาพของกษัตริย์พระองค์หนึ่ง ซึ่งดูเหมือนจะเริ่มต้นดี แต่หลงติดอยู่ในความฉาบฉวยของชีวิต (1พงศ์กษัตริย์ 11:1-13) ซาโลมอนได้ทรงค้นพบความผิดพลาด และมาตระหนักถึงเป้าหมายของการมีชีวิตอยู่ที่แท้จริงก็ต่อเมื่อพระองค์ทรงชราแล้ว
หนังสือเล่มนี้จะเรียงลำดับตามรูปแบบการเขียนของซาโลมอน โดยจะพูดถึงคำตอบที่เป็นทางตัน ก่อนที่จะเปิดเผยถึงหนทางซึ่งนำไปสู่ความพึงพอใจที่แท้จริง เหตุผลในการมีชีวิตอยู่ที่ซาโลมอนทรงเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ และไม่น่าพอใจนั้น ได้แก่
2.1 การเรียน
2.2 ความเพลิดเพลิน
2.3 การงาน
2.4 ความรัก
เขียนโดย เคิร์ท เดอ ฮาน
แปลโดย ปาริชาติ แสงอัมพร
เรียบเรียงโดย ชนิดา จิตตรุทธะ
จากหนังสือ ฉันมาอยู่ในโลกนี้ทำไม ?
Back 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 Next |